ขอประชาสัมพันธ์ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเผาหญ้า ขยะ หรือสิ่งอื่นๆ ในที่ดินของตนเอง

การกำจัดขยะมูลฝอย หญ้าหรือสิ่งอันไม่พึงประสงค์ใดๆ ในที่ดินของตนเองนั้น  ประชาชนส่วนมากมักนิยมใช้วิธีการจุดไฟเผา เพราะเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อย โดยเฉพาะเกษตรกร เมื่อหมดฤดูการเพาะปลูกแล้ว ก็จะต้องทำการเผาฟางข้าว ต้นข้าวหรือซังข้าว หรือเศษไม้ใบหญ้า เพื่อเตรียมการทำการเพาะปลูกใหม่ในฤดูกาลต่อไป ซึ่งการกำกัดเศษซากพืชหรือขยะด้วยวิธีนี้ นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ปัญหามลพิษทางอากาศจากค่าปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน pm 2.5 ยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงเนื่องจากกลุ่มควันฝุ่นละอองจากขี้เถ้า และยังอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามไปยังที่ดินข้างเคียงอีกด้วย ซึ่งการกระทำเหล่านี้มีกฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ตามระดับของความร้ายแรงแห่งการ กระทำ ดังนี้

1. หากการเผาหญ้า หรือขยะ หรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่อาจจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น กล่าวคือ ยังไม่ถึงขั้นที่จะน่ากลัวว่าไฟนั้นจะลุกลามไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่น เป็นแต่เพียงก่อให้เกิด กลิ่น แสง สี เสียง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพแก่ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง เช่น มีฝุ่นควันลอยและเศษ ขี้เถ้าไปเข้าบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านได้รับความเดือดร้อนรำคาญ เช่นนี้ ตามกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งห้ามเป็นหนังสือให้เจ้าของที่ดินผู้เผาหยุดเผา หยุดการกระทำดังกล่าวได้ และยังสามารถกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันเหตุรำคาญที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ห้ามมิให้ทำการเผาอีกต่อไป และหากเจ้าของที่ดินผู้เผายังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก็จะมีความผิดอาญา โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25, 26, 28, 74)

2. หากการเผาหญ้า หรือขยะ หรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น มีความรุนแรงถึงขั้นที่ "น่าจะ" เป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เช่น จุดไฟเผาแล้วไม่ดูแล ปล่อยให้ไฟลุกลามจนเพื่อนบ้านต้องเรียกรถดับเพลิงมาดับไฟ เพราะไฟใกล้จะไหม้ถึงบ้านเพื่อนบ้าน เช่นนี้ เจ้าของที่ดินผู้เผาจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ทั้งนี้ โดยที่ไม่ต้องเกิดเพลิงไหม้หรือความเสียหายขึ้นจริง ๆ เลย เพียงแต่น่าจะเกิดก็เป็นความผิดตามมาตรา 220 แล้ว และหากเกิดอันตรายขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือบุคคลอื่นจริง ๆ ผู้กระทำก็ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 218 หรือมาตรา 224 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีระวางโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ยกเว้นหากทรัพย์สินที่เกิดเพลิงไหม้หรืออาจจะเกิดเพลิงไหม้นั้นมีราคาเล็กน้อย ผู้กระทำก็จะได้รับโทษเบาลงตามมาตรา  223

3. หากลักษณะการเผาหญ้า หรือขยะ หรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลได้อยู่แล้วว่า ลักษณะการจุดไฟเผาของตนอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้อย่างแน่นอน เช่น จุดไฟในลักษณะที่ใกล้เคียงกับบ้านหรือทรัพย์สินของคนอื่นอย่างมาก ในช่วงที่ลมแรง เช่นนี้ ผู้กระทำผิดย่อมมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 - 218 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงถึงประหารชีวิต

อนึ่ง การเผาในที่โล่งในพื้นที่เอกชน พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ข้างทางหรือถนน พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่เกษตรกรรม หากเกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท ตามมาตรา 220 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 218 อันได้แก่ 1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย 2) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือทำสินค้า 3) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม 4) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา 5) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ 6) เรือกลไฟหรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี ตามนัยมาตรา 218 และมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ถ้าผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 225 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ หากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ในฐานความผิดละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

กรุณาเลือกภาษา

Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Japanese Korean Vietnamese

บริการประชาชน



หน่วยงานภาครัฐ
















เว็บไซต์ที่น่าสนใจ








ดาวน์โหลดแนะนำ






พยากรณ์อากาศ


แลกเปลี่ยนเงินตรา

แผนที่ท่องเที่ยวไทย



โทร. 081-5879637







QR Code
อบต.แพรกหนามแดง

ช่องทางการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT)